TBN กำลังจะเป็นหุ้นน้องใหม่ เข้าจดทะเบียนกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai)

บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN กำลังจะเป็นหุ้นน้องใหม่ เข้าจดทะเบียนกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai)เร็วๆ นี้ หลังจากสำนักงานก.ล.ต.เริ่มนับ 1 ไฟลิ่ง เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา  

ซึ่งขณะนี้ “ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น” กำลังอยู่ในกระบวนการเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)จำนวน 25 ล้านหุ้น แต่งตั้ง บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน  

สรุปข้อมูล “ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น” เป็นใคร ทำธุรกิจอะไร เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักลงทุนนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน 

บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN ก่อตั้งขึ้นในปี 2008  โดยคุณปนายุ ศิริกระจ่างศรี เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ดำเนินธุรกิจให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบดิจิทัลแบบครบวงจร เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและพัฒนาโซลูชันตามความต้องการของลูกค้า โดยใช้ซอฟต์แวร์ Low-code Development Platform ของ MENDIX ที่ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชัน เว็ปไซต์ หรืองานดิจิทัลโซลูชันสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยให้ธุรกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนตัวเองสู่การเป็น Digital Business อย่างเต็มตัว 

ซึ่ง Mendix คือผู้นำด้านเทคโนโลยี Low-Code Platform ที่มีธุรกิจองค์กรเลือกใช้งานมากกว่า 4,000 แห่งทั่วโลก และถูกจัดให้เป็น Leader ใน Gartner’s Magic Quadrant สำหรับ Low-Code Platform โดย “ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น”  ได้รับแต่งตั้งจาก Siemens ให้เป็นตัวแทนจำหน่าย MENDIX อย่างเป็นทางการ (Authorized Reseller) รายแรกในประเทศไทยและรายเดียวในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2551  

ปัจจุบัน “ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น” การให้บริการ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ  
1. งานพัฒนาระบบและงานบริการเกี่ยวเนื่อง 
 1.1. งานพัฒนาระบบดิจิทัล (Digital Solution Services) 
 1.2.งานสนับสนุนและบำรุงรักษาระบบ (Technical Support and Maintenance) 
 1.3.งานบริการให้คำปรึกษา (Technical Consultancy Services) 

โดยงานพัฒนาระบบและงานบริการเกี่ยวเนื่องเป็นบริการที่สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทฯ สำหรับระยะเวลาที่ใช้การพัฒนาระบบเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของลูกค้านั้น ถ้าระบบไม่มีความซับซ้อนจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน แต่ถ้าระบบมีความซับซ้อนสูงระยะเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี ตามข้อกำหนดในสัญญา  

2.งานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี 
 2.1.การให้ใช้สิทธิ์โปรแกรม MENDIX (MENDIX License) 
 2.2.การให้บริการคลาวด์ (Cloud Services) 

ด้านโครงสร้างผู้ถือหุ้น (ดูตารางประกอบ) นำโดย คุณปนายุ ศิริกระจ่างศรี ซึ่งเป็นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 23.58 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 23.59% หลังการเสนอขายหุ้น IPO อันดับสอง คือ Rocket Holdings (HK) Limited ซึ่งเป็นของ บีทีเอสกรุ๊ป ถือหุ้น 18.75 ล้านหุ้น หรือ 18.75% นางสาวนริศรา ลิ้มธนากุล ถือหุ้น 18.03 ล้านหุ้น หรือ  18.04% และนายเทอดพงษ์ หงษ์หิรัญเรือง ถือหุ้น 8.32  ล้านหุ้น หรือ 8.32% 

มาดูในด้านผลการดำเนินงานกันบ้าง (ดูตารางประกอบ) หากดู 3 ปี ย้อนหลัง (2562-2564) รายได้ และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง  

ในส่วนของรายได้ 3 ปีย้อนหลัง 

ปี 2562 มีรายได้  130.38 ล้านบาท 
ปี 2563 มีรายได้  215.73 ล้านบาท  
ปี 2564 มีรายได้  291.19 ล้านบาท   
และ 9 เดือนปี 65 ทำได้ 243.96 ล้านบาท 

ส่วนกำไรสุทธิ 3 ปีย้อนหลัง  
ปี 2562 มีกำไร 45.44 ล้านบาท 
ปี 2563 มีกำไร 87.61 ล้านบาท   
ปี 2564 มีกำไร 84.04 ล้านบาท  
และ 9 เดือนปี 65 มีกำไร 26.52 ล้านบาท  

โดยฐานะทางการเงิน ของ”ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น” ค่อนข้างแข็งแกร่ง ณ สิ้นไตรมาส 3/65 มีสินทรัพย์รวม 256.33 ล้านบาท, หนี้สินรวม 190.16 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้นรวม 66.18 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ 16.56% และ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 42.76% 

สำหรับแผนการระดมทุนขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ “ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น” มีแผนจะนำเงินที่ได้ ไปขยายธุรกิจรวมถึงการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น, ใช้ในการเพิ่มจำนวนบุคลากร-พัฒนาบุคลากร รวมถึงพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนโครงการและจำนวนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น  

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ในปี 2565-2567 ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คาดการณ์ว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์จะเติบโตร้อยละ 11.70 ด้วยมูลค่ารวม 183,051 ล้านบาท และในปี 2566 คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะเติบโตขึ้นร้อยละ 12.10 ด้วยมูลค่ารวมราว 205,200 ล้านบาท